เคล็ดลับเลือกครีมกันแดดไม่ให้แก่แดด
แสงแดดที่ตกมาถึงโลกของเราจะมีรังสีแสงแดด ซึ่งมีความยาวคลื่น ตั้งแต่ 290-760 นาโนเมตร โดยแบ่งช่วงคลื่นเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ ช่วงคลื่นระหว่าง 290-320 ที่เรียกกันว่า รังสี UVB หรือ รังสีอัลตราไวโอเลต (UV), ช่วงคลื่นระหว่าง 320 - 400 นาโนเมตร เรียก UVA และช่วงคลื่นระหว่าง 400 - 760 นาโนเมตร ซึ่งเป็นรังสีที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (Visible Radiation) รังสีจากแสงแดดเหล่านี้ สามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยาทาง เคมี และ/หรือ ฟิสิกส์กับสารเคมีในผิวหนัง ซึ่งทั้งรังสีแสง UVA และ UVB จะส่งผลทำอันตรายต่อผิวได้มากที่สุด จึงควรมีการป้องกันผิวจากรังสีดังกล่าว ซึ่งสิ่งที่ช่วยป้องกันได้ดีที่สุด ก็คือ ครีมกันแดด นั่นเอง
ครีมกันแดด มีทั้งชนิดที่มีคุณสมบัติที่ป้องกันรังสีจากแสงแดดได้ทั้ง 3 ช่วงคลื่น กล่าวคือ รังสี UVA, UVB และรังสีที่มองเห็นด้วยตาเปล่า และชนิดที่ป้องกันได้เฉพาะบางช่วงคลื่นเท่านั้น การเลือกครีมกันแดด ให้เหมาะกับผิวและการใช้งานอย่างได้ผล จึงจำเป็นต้องทำความรู้จักกับส่วนผสมและคุณสมบัติกันก่อน
สารป้องกันแสงแดดมีด้วยกัน 2 กลุ่ม
สารกันแดดกลุ่มที่ 1 เป็น สารกันแดดชนิดดูดแสง (Chemical Sunscreen) สารในกลุ่มนี้จะดูดแสงเข้าไปในโมเลกุลของสาร แล้วเปลี่ยนแสงนั้นให้เป็นพลังงานความร้อน จึงป้องกันไม่ให้แสงผ่านลงไปในชั้นผิวหนังได้ สารป้องกันแสงแดดประเภทนี้ บางชนิดดูดซับได้เฉพาะรังสี UVA บางชนิดดูดซับได้เฉพาะรังสี UVB และบางชนิดดูดซับได้ทั้ง UVA และ UVB แต่ยังไม่มีสารใดสามารถดูดซับรังสีที่มองเห็นด้วยตาเปล่า (Visible Radiation) ได้
สารกันแดดกลุ่มที่ 2 เป็น สารสะท้อนแสงแดดออกจากผิว (Physical Sunscreen) สารในกลุ่มนี้ได้แก่ Titanium Dioxide, Zinc Oxide ซึ่ง Zinc Oxide จะดีกว่า Titanium Dioxide เพราะขาวน้อยกว่ามาก และสามารถสะท้อนแสงในช่วงคลื่น ทั้ง UVA , UVB และ Visible Light ได้
ผู้ที่จะเลือกซื้อครีมกันแดดมาปกป้อง ควรเลือกให้ดีๆ ด้วยการอ่านสรรพคุณของส่วนผสมให้ดี นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการช่วยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดด ได้แก่ เลือกจากสูตรยากันแดด โดยสูตรที่ดีควรมีสารกันแดดชนิดที่ถูกและสะท้อนแสง UVA UVB และ Visible Light ปนกัน เพื่อเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกัน ทำให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งยังควรมีความเข้มข้นของสารที่ได้แต่ละตัวต้องพอเหมาะ มากไปหรือน้อยจนเกินไป ที่สำคัญคือ ต้องมีคำนึงถึงประสิทธิภาพในการป้องกันแดด ด้วยการดูค่า SPF ของครีมกันแดด ซึ่งสามารถสังเกตจากข้างกล่องผลิตภัณฑ์ ที่จะระบุคำว่า SPF และ PA ติดอยู่ว่ามีค่าป้องกันได้เท่าไหร่
SPF เป็นค่าวัดประสิทธิภาพของสารกันแดดที่กัน UVB ยกตัวอย่างถ้าข้างกล่องครีมกันแดด ระบุว่า มีค่า SPF15 นั่นก็หมายถึงว่า ครีมกันแดดนั้น มีสารป้องกัน UVB ได้ถึง 15 เท่า โดยเทียบกับผิวที่ไม่ได้ทาครีมกันแดด ซึ่งตามปกติแล้ว ผิวคนไทยที่ปราศจากครีมกันแดด จะเกิดการไหม้แดดหลังจากตากแดดประมาณ 15-30 นาที แต่เมื่อทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF15 จะสามารถตากแดดได้นานขึ้น 15 เท่า หรือตากแดดได้ถึงวันละ 3 - 4 ชั่วโมง ผิวถึงจะเกิดอาการไหม้แดด
ส่วนค่า PA เป็นค่าที่ใช้วัดประสิทธิภาพของสารกันแดดที่กันรังสี UVA โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ PA 2 - 4 สามารถป้องกัน UVA ได้บ้าง PA 4 - 8 ป้องกัน UVA ได้ดีพอสมควร และ PAตั้งแต่ 8 ขึ้นไปป้องกันได้ดีที่สุด
นอกจากนี้ ปริมาณการทาบนผิวก็มีความสำคัญ ผู้ใช้หลายๆ คน ไม่รู้ว่าการทาครีมกันแดดที่ถูกนั้นต้องใช้ปริมาณเท่าใด จึงขอแนะนำให้ใช้วิธีง่ายๆ คือ ให้บีบครีมแล้วแต้มบนจุดต่างๆ บนใบหน้า ได้แก่ บริเวณหน้าผา บริเวณแก้มทั้งสองข้าง บริเวณจมูกและคาง โดยในแต่ละจุดใช้ครีมปริมาณเท่าเมล็ดถั่ว 1 เม็ด และเกลี่ยครีมให้ทั่วบริเวณหน้า การเกลี่ยครีมนั้นต้องมีความสม่ำเสมอ รวมไปถึงการทาครีมที่บริเวณ คอ แขน และอวัยวะส่วนที่มีโอกาสถูกแสงแดด โดยการทาครีมกันแดดที่ถูกต้องนั้น ควรทาก่อนถูกแดด ประมาณ 30 นาที เพื่อให้ครีมกันแดดเกาะกับผิวหนังชั้นขี้ไคลได้แนบแน่นมากยิ่งขึ้น
ข้อแนะนำที่ดีที่สุด สำหรับการดูแลผิวในช่วงฤดูหนาว ที่อากาศเย็นยะเยือกกลับมาเยือนอีกหน พร้อมๆ กับความร้อนแรงของแสงแดดที่เต็มเปี่ยมไปด้วยรังสี UVA UVB และรังสีที่มองเห็นได้เหล่านี้ ทุกคนจึงควรปกป้องผิว ด้วยการทาครีมกันแดดกันแต่เนิ่นๆ แล้วแสงแดดและความชื้นในอากาศก็จะไม่สามารถเข้ามารบกวนความสุขและทำร้ายผิว ให้เสียได้เลยตลอดฤดูหนาวนี้
ที่มาบทความจาก: แพน ราชเทวี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น